วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554

แอนน์ ไชเบอร์

แอนน์  ไชเบอร์ เป็นตัวอย่างของนักลงทุนที่ไม่มีคนรู้จักจนกระทั่งเธอเสียชีวิตในปี 1995 ขณะมีอายุได้ 101 ปีประวัติย่อๆที่ทำให้ผมประทับใจและนำมาเล่าต่อก็คือ
แอนน์ เป็นพนักงานตรวจบัญชีของกรมสรรพากรสหรัฐ กินเงินเดือนไม่เคยเกินปีละ 3,000 เหรียญหรือคิดแล้วไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท ในปี 1932 หรือ 3 ปีหลังจากตลาดหุ้นสหรัฐถล่มและเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐ แอนน์ ซึ่งขณะนั้นอายุ 38 ปีและเป็นโสด ต้องมนต์ขลังของตลาดหลักทรัพย์ เธอจึงส่งเงินทั้งหมดที่มีอยู่ให้น้องชายซึ่งเป็นโบรกเกอร์ช่วยลงทุนซื้อขายหุ้นในตลาดวอลสตรีท โชคไม่ดี บริษัทที่น้องชายทำงานอยู่เกิดล้มละลายและหล่อนสูญเงินทั้งหมด
ด้วยความมุ่งมั่นและศรัทธาอันแรงกล้า แอนน์ไม่ยอมแพ้ แต่คราวนี้หล่อนตัดสินใจที่จะลงทุนเอง เธอเก็บเงินได้ประมาณ 5,000 เหรียญ และเริ่มกลับเข้าตลาดใหม่ในปี 1944 และเริ่มลงทุนโดยยึดหลักการลงทุนระยะยาว และการศึกษาติดตามหุ้นที่ตนถืออย่างใกล้ชิด ซึ่งรวมถึงการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นทุกครั้ง หุ้นที่เธอลงเป็นหุ้นของบริษัทใหญ่ๆ ที่มีชื่อเสียงมียี่ห้อแข็งแกร่ง เช่น หุ้นของบริษัทเป๊ปซี่โค เชอริง พลาวก์ ไครส์เลอร์ และโคคา โคล่า  แอนน์ ลงทุนด้วยเงินทั้งหมดที่มีอยู่และเมื่อได้รับปันผลมาหล่อนก็จะเอามาลงทุนต่อไปเรื่อยๆ ฝากโชคชะตาและเงินของตนเองกับบริษัทที่กำลังเติบโตเหล่านั้นและมองดูกำไรที่เติบโตขึ้นทศวรรษแล้วทศวรรษเล่า พร้อมๆกับการเติบโตขึ้นของราคาหุ้นและเงินลงทุนของตนเอง
เวลาผ่านไปประมาณ 50 ปี พอร์ตของแอนน์เติบโตขึ้นจากเงิน 5,000 เหรียญกลายเป็น 20 ล้านเหรียญ เฉพาะผลตอบแทนจากปันผลและดอกเบี้ยรับรายปีก็มากกว่าปีละ 1 ล้านเหรียญแล้ว ด้วยกลยุทธ์การลงทุนง่ายๆแบบนี้  โดยรวมแล้ว ผลตอบแทนของแอนน์ในช่วง 50 ปีสูงถึงปีละประมาณ 20% โดยเฉลี่ย ซึ่งน่าจะเป็นสถิติที่หาคนทำได้ยากแม้แต่เซียนหุ้นชั้นสุดยอดหลายๆคน และเป็นสถิติที่เป็นรองวอเร็น บัฟเฟตต์เพียงไม่กี่เปอร์เซนต์ในช่วงเวลาเดียวกัน
แอนน์  ไชเบอร์ น่าจะมีชีวิตอยู่อย่างสุขสบายเช่นเศรษฐีคนหนึ่ง ตรงกันข้าม คนที่รู้จักเล่าว่าหล่อนใช้ชีวิตที่ค่อนข้างโดดเดี่ยวในห้องเช่าเล็กๆราคาถูก หล่อนไม่เคยแต่งงานและใช้ชีวิตแบบสมถะสุดๆ เสื้อโคทที่สวมใส่เป็นประจำก็เป็นเสื้อตัวเดิมที่ใช้มานานปีแล้วปีเล่า บางครั้งเธอถึงกับงดอาหารบางมื้อเพื่อเก็บเงินเอาไว้ลงทุน ดูเหมือนว่าหล่อนจะไม่ได้ใช้เงินเพื่อตนเองเลย เงินทั้งหมดที่ทำมาเธอบริจาคให้กับมหาวิทยาลัยเยชิวาในนิวยอร์ค และนี่คือตำนานของนักลงทุนธรรมดาที่ไม่ธรรมดาอีกคนหนึ่งที่เป็นพลังใจและเป็นบทเรียนให้กับ Value Investor ทั้งหลาย
พลังใจที่ว่าก็คือ ทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จสูงได้ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร อายุเท่าไร และมีเงินมากน้อยแค่ไหน สำหรับแอนน์แล้ว อายุ 50 เป็นสาวโสด เงินเดือน 10,000 บาท เงินออม 200,000 บาท ไม่ใช่อุปสรรคของการลงทุน
บทเรียนที่สำคัญก็คือ ศรัทธา และความยึดมั่นเป็นสิ่งที่มีพลังยิ่งใหญ่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชีวิตและการลงทุน ศรัทธาในวิธีการลงทุนที่ถูกต้อง และยึดมั่นในแนวทางที่ประสบความสำเร็จ นั่นคือ ลงทุนระยะยาวในบริษัทที่ดีและเติบโต นำปันผลและกำไรที่ได้รับมาลงทุนต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่หวั่นไหวกับความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์ปีแล้วปีเล่า นี่คือสูตรสำเร็จที่จะเกิดขึ้นช้าๆ แต่แน่นอนและนำไปสู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่อย่างที่คาดไม่ถึง
บทเรียนต่อมาก็คือ นักลงทุนที่แท้จริงนั้นไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ชอบใช้เงินในสิ่งที่ไม่จำเป็นโดยเฉพาะการใช้เงินเพื่อตนเอง แต่นักลงทุนชอบเอาเงินมาลงทุนซื้อหุ้น ผมคิดว่าการเก็บรวบรวมหุ้นนั้นคงเป็นความสุขอย่างหนึ่งเช่นเดียวกับคนที่ชอบสะสมรถเก่า นาฬิกา ของโบราณ หรือแม้แต่ที่ดิน มองในแง่นี้ความสุขของนักลงทุนพันธุ์แท้ก็คือความสุขจากการลงทุนไม่ใช่ความสุขของการบริโภค
คนอื่นคงไปพูดแทนแอนน์  ไชเบอร์ไม่ได้ว่าชีวิตของหล่อนนั้นเป็นทุกข์ที่มีเงินแล้วไม่รู้จักใช้ หล่อนอาจจะไม่ได้เดือดเนื้อร้อนใจอะไรเลยกับการอยู่ในห้องเช่าเล็กๆ ใช้เสื้อผ้าเก่าหรืออดอาหารบางมื้อ ว่าที่จริงความสุขทั้งหลายนั้นอยู่ที่ใจ ถ้าหล่อนคิดว่าการจ่ายค่าเช่าน้อย แล้วเหลือเงินมาซื้อหุ้นเป็นความสุขกว่าการอยู่ห้องใหญ่แต่ต้องขายหุ้นทิ้ง จะบอกได้อย่างไรว่าเธอเป็นทุกข์จากการอยู่ห้องเล็ก ซึ่งเป็นมาตรฐานของสังคมทั่วๆไป
          ผมเองไม่ได้สนับสนุนให้ Value Investor ทำตัวแบบแอนน์ ไชเบอร์ทุกอย่าง แต่ก็ไม่คิดว่าชีวิตของแอนน์เป็นชีวิตที่น่าอนาถ Value Investor พันธุ์แท้มักจะมีชีวิตและความคิดที่เป็นอิสระ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะวิธีคิดในการลงทุนมันสอนให้เป็นเช่นนั้น ดังนั้นผมคิดว่าแต่ละคนคงจะต้องเลือกว่าจะดำเนินชีวิตอย่างไรที่เหมาะกับตนเองมากที่สุด การเรียนรู้บทเรียนจากคนอื่นโดยเฉพาะจากคนที่มีศรัทธาแรงกล้านั้นเป็นเรื่องสำคัญ เปรียบเสมือนกับการทำความรู้จักกับ แม่สี เพื่อที่ว่าเราจะได้สามารถเอามาผสมกันเป็นสีอื่นที่เราพึงพอใจที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น