วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554

หุ้นสิ่งพิมพ์

หลักการเลือกธุรกิจหรือหุ้นที่จะลงทุนตามแนวของ Value Investor สไตล์วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้นมีหลายๆ ข้อดังต่อไปนี้

1. ควรจะเป็นธุรกิจที่เข้าใจได้ง่ายหรือเป็นธุรกิจที่คุณเข้าใจดี
2. มีผลการดำเนินงานมั่นคง สม่ำเสมอมานานพอสมควร
3. เป็นธุรกิจที่มีอนาคตดีไปอีกนาน
4. เป็นธุรกิจที่มีกำไรดีเมื่อเทียบกับยอดขาย
5. มีผู้บริหารที่ดีไว้ใจได้และดูแลผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น
6. หุ้นมีราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับมูลค่าของกิจการ
หุ้นที่เข้าข่ายหรือมีคุณสมบัติ 6 ข้อดังกล่าวกลุ่มหนึ่งสำหรับผมก็คือ หุ้นของธุรกิจสิ่งพิมพ์
          สำหรับผมแล้ว ร้านหนังสือเป็นสถานที่ที่ผมใช้เวลาในช่วงวันหยุดมาก รองจากซุปเปอร์มาร์เก็ต ผมคิดว่าธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์เป็นธุรกิจที่เข้าใจได้ง่ายไม่มีอะไรซับซ้อน ว่าที่จริงมันเป็นอะไรที่คล้ายๆกับธุรกิจอาหารซึ่งทุกคนรู้จักดี เพียงแต่นี่คืออาหารสมองที่จะต้องบริโภคเป็นประจำเพื่อให้เป็นคนที่ฉลาดและรอบรู้อยู่เสมอ และนี่คือคุณสมบัติข้อที่หนึ่งของการเลือกธุรกิจที่จะลงทุน
ธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่ อยู่ตัวหรือประสบความสำเร็จแล้วในระดับหนึ่งมักจะมีผลการดำเนินงานที่มั่นคงสม่ำเสมอต่อเนื่องยาวนาน เหตุผลคงจะเป็นเพราะว่าหนังสือโดยเฉพาะที่เป็นวารสาร หรือหนังสือพิมพ์นั้นมีคุณสมบัติที่ทำให้คน ติด คือเมื่อเคยอ่านและชอบแล้วก็มักจะอยากอ่านฉบับเดิมไม่ชอบเปลี่ยนเป็นฉบับอื่น หนังสือเองก็มีการขายไปสู่คนซื้อจำนวนมาก ซึ่งทำให้การเปลี่ยนแปลงของยอดขายเป็นไปอย่างช้าๆ และมั่นคง ทำให้เราสามารถคาดการณ์ธุรกิจได้แม่นยำพอสมควรนี่คือคุณสมบัติข้อที่สอง
เรื่องอนาคตของธุรกิจสิ่งพิมพ์เองนั้น ถ้ามองว่าประเทศไทยยังมีการอ่านหนังสือกันน้อยมาก ดูจากการสำรวจเมื่อเร็ว ๆนี้ซึ่งพบว่า คนไทยอ่านหนังสือกันโดยเฉลี่ยเพียงปีละ 8 บรรทัด ก็น่าจะพูดได้ว่าอนาคตของธุรกิจน่าจะเติบโตต่อไปได้อีกนาน เพราะในสังคมที่เจริญขึ้น ประชาชนมีการศึกษาสูงขึ้น คนจะอ่านหนังสือมากขึ้น สถิติเมื่อเร็วๆนี้ หรือแม้แต่แค่เดินดูตามร้านขายหนังสือก็พบว่ามีหนังสือออกใหม่ทั้งหนังสือเล่มและวารสารมากขึ้นจริงๆ และนี่ก็น่าจะเป็นธุรกิจที่มีอนาคตดีไปอีกนาน แม้ว่าจะไม่เติบโตพรวดพราดเหมือนธุรกิจบางอย่าง
กฎเกณฑ์ข้อสี่ซึ่งเน้นที่กำไรเมื่อเทียบกับยอดขายหรือที่เรียกว่า Profit Margin นั้น ในธุรกิจสิ่งพิมพ์ ผมคิดว่าน่าจะอยู่ในระดับที่ดีโดยเฉพาะหนังสือที่ประสบความสำเร็จแล้ว เหตุผลก็คือต้นทุนในการผลิตหนังสือที่เป็นรายการใหญ่ เช่น ต้นทุนในการเขียนและการทำต้นฉบับมักเป็นรายจ่ายที่คงที่ไม่เพิ่มขึ้นเมื่อมีการขายเพิ่ม ดังนั้น หนังสือเล่มที่ขายได้ดีมีการพิมพ์ซ้ำบ่อยๆ นั้นจะทำกำไรได้มาก เช่นเดียวกับวารสารที่ติดตลาดและมีหน้าโฆษณามากขึ้นก็สามารถทำกำไรเพิ่มโดยไม่ต้องลงทุนอะไรมากนัก ถ้าจะสรุปง่ายๆก็คือธุรกิจสิ่งพิมพ์นั้นสามารถทำกำไรเพิ่มได้โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มหรือเพิ่มน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับโรงงานผลิตสินค้าอื่นๆ
ผมคงขอผ่านเกณฑ์ข้อห้าเนื่องจากเป็นเรื่องของแต่ละบริษัทที่นักลงทุนจะต้องพิจารณาเป็นรายๆไปว่าธรรมาภิบาลของแต่ละบริษัทเป็นอย่างไร ตามความเห็นของผมก็น่าจะมีหลายกิจการที่ผู้บริหารไว้วางใจได้
สุดท้ายคือเรื่องของราคาหุ้นที่เน้นว่าต้องไม่แพงเมื่อเทียบกับมูลค่าของกิจการ ในประเด็นนี้ถ้ามองจากค่า PE ซึ่งโดยเฉลี่ยของทุกบริษัทพบว่าอยู่ที่ประมาณ 15 เท่า และค่า PB ประมาณ 1.8 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับค่า PB โดยเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ที่ประมาณ 2 เท่า และค่า PE ที่ใกล้เคียงกัน ผมคิดว่าราคาของหุ้นในกลุ่มสิ่งพิมพ์อยู่ในระดับปานกลางซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับคุณภาพของธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่ผมเห็นว่าค่อนข้างดีแล้ว ผมก็คิดว่าการลงทุนในหุ้นของธุรกิจสิ่งพิมพ์น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้
ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของหุ้นสิ่งพิมพ์ก็คือ เป็นหุ้นที่มักจะจ่ายปันผลในระดับที่ดีปีละประมาณ 4 – 5% ของราคาหุ้น และหลายบริษัทจ่ายทุกไตรมาศซึ่งทำให้ผู้ถือหุ้นมีรายได้สม่ำเสมอ
แน่นอนความเสี่ยงของการถือหุ้นสิ่งพิมพ์ก็มีอยู่เช่น การที่กระดาษที่เป็นวัตถุดิบมีราคาเพิ่มขึ้นอย่างที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันซึ่งทำให้กำไรของกิจการลดลง หรือเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทำให้รายได้โฆษณาน้อยลง แต่ทั้งหลายเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้กิจการถึงกับขาดทุนเพียงแต่กำไรอาจจะถดถอยลงบ้างเป็นครั้งคราว แต่ในที่สุดแล้วปัญหาก็มักจะผ่านไปได้เมื่อภาวะเลวร้ายผ่านไป หรือมีการปรับราคาขายให้สอดคล้องกับต้นทุนในที่สุด
          ปัญหาอีกข้อหนึ่งของหุ้นสิ่งพิมพ์ก็คือ ส่วนใหญ่แล้วหุ้นในกลุ่มนี้จะมีสภาพคล่องน้อยมาก การซื้อขายอย่างรวดเร็วทำได้ไม่ง่ายนัก และนี่คงจะเป็นสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนแม้แต่ที่เป็น Value Investor ไม่สนใจที่จะศึกษาหรือลงทุน แม้ว่าโดยพื้นฐานของธุรกิจเองนั้น ธุรกิจสิ่งพิมพ์มีคุณสมบัติครบถ้วนของการที่จะเป็นหุ้น Value ได้ไม่แพ้ธุรกิจอื่นๆ ทั้งหมดนั้นก็คือการวิเคราะห์ตัวอุตสาหกรรมหรือหุ้นของทุกบริษัทโดยเฉลี่ย แต่การที่จะเลือกลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง คุณก็หนีไม่พ้นที่จะต้องวิเคราะห์เจาะลึกเป็นรายตัวตามสูตรการคัดเลือกหุ้นในแบบ Value Investment ทุกประการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น