วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554

วอเร็นบัฟเฟตต์เมืองจีน

เพื่อนในวงการผู้จัดการกองทุนรวมเรียกเขาว่า วอเร็น  บัฟเฟตต์ เมืองจีน แต่เขาบอกว่าเขาแก่เกินไป และก็จนเกินกว่าที่จะขึ้นมาเป็นวอเร็น  บัฟเฟตต์เมืองจีนได้ แต่สิ่งที่เขาเหมือนกับบัฟเฟตต์ก็คือ เขาสามารถทำให้หุ้นตัวใดตัวหนึ่งวิ่งขึ้นเป็นจรวดได้เพียงแค่เขาเข้าไปซื้อหุ้นตัวนั้น ยกตัวอย่างเช่นในวันที่มีข่าวว่าเขาเข้าซื้อหุ้น เชาด้า ซึ่งเป็นผู้ผลิตผักขนาดใหญ่ของจีน หุ้นเชาด้าก็วิ่งขึ้นไปถึง 24%
เชียะ เชง ไฮ ไม่ได้พูดถ่อมตัว เขาอายุ 49 เกิดที่เกาะปีนังในครอบครัวที่ยากจน พ่อตายตั้งแต่อายุ 12 ขวบตอนเด็กเขาเรียนเก่งมาก เข้าเรียนโรงเรียนดังของปีนังด้วยทุนการศึกษาในตอนเช้า และขายสัปปะรดในตอนบ่าย และทั้งๆที่เรียนได้ที่หนึ่งของโรงเรียนเขาก็ไม่ได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยเพราะต้องออกมาทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวโดยการเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์สตาร์ของมาเลเซีย
ชีวิตของเชียะ ผันแปรเข้าสู่วงการการลงทุนเมื่อเขาย้ายมาอยู่กับหนังสือพิมพ์เอเชียนวอลสตรีท เจอร์นอลในฐานะนักข่าวเศรษฐกิจการเงินและได้สัมผัสกับเรื่องของการลงทุนซึ่งเขารู้สึกหลงใหลและรู้สึกว่าเขามีทักษะบางอย่างเกี่ยวกับการลงทุนที่ไม่เหมือนคนอื่น ที่สำคัญเขาอยากทำเงินและอยากมีรายได้แบบก้าวกระโดด ดังนั้นเขาจึงติดต่อกับ เซีย ฟู หัว ผู้จัดการด้านวานิชธนกิจของมอร์แกน เกรนเฟลด์ เอเชีย และเสนอว่า มอร์แกน ควรฉีกตัวจากคู่แข่งโดยการเน้นที่หุ้นขนาดกลางและเล็กซึ่งเขาเห็นว่าคุ้มค่ามากและไม่ค่อยมีคนสนใจทำวิจัย และนั่นคือจุดที่เชียะเข้าสู่ธุรกิจการลงทุนโดยการได้งานเป็นนักวิเคราะห์ของมอร์แกน เกรนเฟลด์
ในปี 1993 เชียะได้เริ่มก่อตั้งกองทุน วาลู พาร์ตเนอร์ ด้วยทุนเริ่มแรก 3 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งระดมจากเงินออม เงินลงทุนจากเพื่อนฝูง และลูกค้าเก่า วาลู พาร์ทเนอร์เน้นลงทุนในหุ้นขนาดเล็กถึงกลางที่มีราคาหุ้นต่ำกว่าพื้นฐานของบริษัท ในตลาดหุ้นของเอเซีย โดยตลาดหลักอยู่ที่ฮ่องกงและจีน
ในช่วงแรก ผลการดำเนินงานของกองทุนค่อนข้างผันผวน เติบโต 63% ในปี 1993 ตกลงมา 12% ในปี 94 และวิ่งขึ้น 21% ในปี 1995 แต่เม็ดเงินก็วิ่งเข้ามาลงทุนในกองทุนเพราะนักลงทุนอยากจะทำกำไรจากการเจริญเติบโตของจีนในฐานะที่จะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก พอถึงปี 1995 วาลูพาร์ตเนอร์ก็มีเงินทุนถึง 100 ล้านเหรียญ
ในปี 1998 เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในเอเซีย วาลู พาร์เนอร์ ถูกกระทบอย่างหนักจน เกือบตาย กองทุนถูกถอนลดลงจาก 200 ล้านเหรียญ เหลือ 130 ล้านเหรียญและผลการดำเนินการขาดทุนไปถึง 29% ดูเหมือนว่าทุกอย่างกำลังจบลงแต่เชียะรู้ว่าทุกอย่างจะต้องดีขึ้นเพราะหุ้นในพอร์ทที่ถืออยู่มีราคาถูกมากจนไม่น่าเชื่อคือมีค่า PE เฉลี่ยเพียง 2.5  เท่า
          ชื่อเสียงของเชียะโด่งดังเป็นที่น่าอิจฉาเมื่อภาวะเศรษฐกิจของเอเซียเริ่มกลับสู่ภาวะปกติในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กองทุนของวาลู พาร์ตเนอร์วิ่งขึ้นไปถึง 189.3% หรือเฉลี่ยให้ผลตอบแทนปีละ 42.5% ผลงานอันโดดเด่นนี้ดึงดูดเงินทุนจากนักลงทุนทั้งในเอเซีย อเมริกา และยุโรปให้เข้ามาลงทุนและทำให้กองทุน A เติบโตขึ้นถึง 12 เท่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาหรือคิดเป็นเงินถึง 431 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อรวมกับกองทุนอื่นๆ อีก 4 กองทุนที่วาลู พาร์ตเนอร์บริหารมีเงินรวมกันถึง 1,500 ล้านเหรียญ
หลักการลงทุนของเชียะนั้นเน้นการลงทุนแบบ Value Investment อย่างเคร่งครัด เขาจะวิเคราะห์ตัวกิจการอย่างลึกซึ้งทุกแง่มุมทั้งในด้านของตัวเลขและการลงตรวจสอบภาคสนาม คือไปเยี่ยมเยียนและสัมภาษณ์ผู้บริหารของบริษัทรวมทั้งไปตรวจสอบกับคู่แข่งและสินค้าในตลาด จนกว่าเขาจะมั่นใจจริงๆว่าการลงทุนนั้นคุ้มค่า เขาจึงจะเข้าลงทุน
นอกจากการลงทุนในกิจการต่างๆที่เน้นหลักการของ Value Investment แล้ว หลักการทำงานและวัฒนธรรมของบริษัททุกอย่างก็อยู่ในแนว Value ทั้งสิ้น ผู้จัดการกองทุน 4 คน และนักวิเคราะห์ 3 คนของวาลู พาร์ทเนอร์ ถูกสอนและอบรมให้เป็น Valueพันธุ์แท้ แม้แต่พนักงานในสายปฏิบัติการก็เชื่อมั่นในหลักการนี้ และเพื่อที่จะยืนยันความศรัทธาในสิ่งที่ทำ พนักงานทั้งหมดรวมกันมีเงินลงทุนกว่า 30 ล้านเหรียญในกองทุนที่ตนเองบริหารอยู่ เชียะเองลงเงิน 6.4 ล้านเหรียญสหรัฐในกองทุนของบริษัท เขาอ้างคำพูดของวอเร็นบัฟเฟตต์ว่า เรากินในสิ่งที่เราปรุงเอง
วาลู พาร์ตเนอร์ กำลังขยายตัวไปทำกองทุนประเภทอื่นๆอีกหลายอย่างเพื่อการเติบโตและนักสังเกตการณ์หลายคนคงจะจับตาดูว่า ความสำเร็จของวาลู พาร์ทเนอร์จะ ฆ่าตัวเองหรือไม่ แต่เชียะบอกว่ามันขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็น Value Investor จริงหรือไม่ถ้าผู้บริหารดี ธุรกิจดี และราคาหุ้นเหมาะสม ผมก็จะถือต่อ คุณไม่สามารถประนีประนอม นี่คือการทดสอบว่าคุณเป็น Value Investor พันธุ์แท้ ใครก็ตามที่จะออกกองทุนใหม่จะต้องผ่านบททดสอบนี้ และผมหวังว่าผู้จัดการกองทุนหนุ่มสาวบางคนของเราในวันนี้จะเติบโตขึ้นเป็นผู้จัดการกองทุนชั้นนำของโลกในวันข้างหน้า“ เชียะเสริมต่อไปว่า “เอเชีย รวมทั้งญี่ปุ่นนั้นเห็นได้ชัดเจนว่าล้มเหลวในการสร้างผู้บริหารเงินทุนที่ยิ่งใหญ่ในระดับชั้นอย่าง วอเร็น  บัฟเฟตต์
          จีนมีประวัติการลงทุนของกองทุนแบบ Value Investment มา 10 ปีแล้ว อย่างน้อยโดย เชียะ เชง ไฮ แม้ว่าความสำเร็จยังไม่อาจเปรียบเทียบได้กับผู้นำระดับโลก แต่สำหรับเมืองไทย ดูเหมือนว่าเรายังไม่ได้เริ่มต้น ผู้นำของ Value Investment ในเมืองไทยยังเป็นนักลงทุนรายย่อยๆ กลุ่มเล็กๆ แต่มุ่งมั่นขึ้นทุกวัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น