วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554

วัฏจักรอารมณ์

นักวิชาการทางการเงินสายหลักเชื่อว่านักลงทุนตัดสินใจด้วยเหตุผล เพราะฉะนั้นจึงทำให้ราคาหุ้นในตลาดเป็นราคาที่มีเหตุผลหรือเป็นราคาที่เหมาะสมกับมูลค่าที่แท้จริง แต่นักการเงินพฤติกรรมซึ่งเป็นนักการเงินรุ่นใหม่บางคนบอกว่า นักลงทุนนั้นมักตัดสินใจด้วยอารมณ์ ดังนั้นราคาตลาดของหุ้นอาจไม่ได้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงตามพื้นฐาน แต่สะท้อนถึงอารมณ์ของนักลงทุนมากกว่า ใครจะถูกหรือผิดคงไม่ใช่ประเด็นที่ผมจะพูดในที่นี้ แต่อยากจะอธิบายถึงอารมณ์ของนักลงทุนว่า นักลงทุนจำนวนมากมักจะมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปตามสถาณการณ์ของหุ้น เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ นักลงทุนมีอารมณ์เป็นวัฎจักร ตั้งแต่การเข้าซื้อหุ้นจนกระทั่งขายหุ้นและก็เข้าซื้อใหม่ วนเวียนไปเรื่อยๆ ดังต่อไปนี้
สมมุติว่าหุ้น A อยู่ดีๆราคาก็กระโดดพรวดพราดขึ้นมาพร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้น นาย ก. ซึ่งเป็นนักลงทุนในตลาดหุ้นเห็นครั้งแรกเขาก็จะรู้สึกสงสัยและไม่ไว้วางใจว่าหุ้น A มีอะไรดี ทำไมจึงวิ่ง ดูไปแล้วเขาก็ไม่เชื่อว่าจะขึ้นไปได้ต่อเนื่อง เขาจึงวางเฉย ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเขาเคยเจ็บตัวมาแล้วจากการวิ่งไล่หุ้นที่ราคาพุ่งพรวดพราดโดยที่พื้นฐานยังไม่เด่นชัด นี่คืออารมณ์ขั้นแรก นั่นคือ สงสัย ไม่แน่ใจ
อารมณ์ขั้นที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อเขาเริ่มจับตาดูหุ้น A อย่างห่างๆในขณะที่หุ้น A เดินหน้าขึ้นไปเรื่อยๆพร้อมกับการปรับตัวเป็นระยะๆ นาย ก. ยังระมัดระวัง ไม่ผลีผลามแต่ก็เริ่มสนใจศึกษา ทั้งจากหนังสือพิมพ์และฟังเพื่อนที่เริ่มพูดถึงหุ้น A มากขึ้นเรื่อยๆ เขายังไม่กล้าฟันธงว่าหุ้นดีจริง อารมณ์ของเขาคือ การระมัดระวัง
อารมณ์ขั้นที่ 3 และ 4 ก็คือ ความมั่นใจ และ ความกระตือรือร้น สิ่งนี้เกิดขึ้นเมื่อหุ้น A วิ่งขึ้นไปอย่างรวดเร็วอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับปริมาณการซื้อที่น่าจะมาจากสถาบันการลงทุนที่เริ่มเข้ามาเก็บหุ้น ในช่วงเวลานี้ โบรกเกอร์ต่างก็เริ่มออกบทวิเคราะห์เชียร์ให้ซื้อหุ้น A อย่างทั่วหน้า คอมเมนเตเตอร์ในรายการหุ้นทั้งทีวีและวิทยุต่างก็พูดถึงหุ้น A ดูเหมือนว่าทุกคนต่างก็สนับสนุนว่าหุ้น A เป็นหุ้นที่น่าลงทุนพลาดไม่ได้ ที่สำคัญก็คือ งบการเงินของหุ้น A ที่ประกาศออกมานั้น มีกำไรโตแบบก้าวกระโดด ผู้บริหารของบริษัทออกมาให้ข่าวอย่างต่อเนื่องว่า อนาคตของบริษัทสดใสมาก
อารมณ์ขั้นที่ 5 คุณน่าจะเดาได้ มันคือความโลภ นาย ก. เห็นเพื่อนทุกคนต่างก็เข้ามาเล่นหุ้นตัวนี้และได้กำไรกันทั่วหน้า เขากลัวตกรถ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ เขากำลังคิดว่าเขาจะสามารถทำกำไรได้รวดเร็วจากหุ้นตัวนี้ ความฝันที่จะทำกำไรสร้างความมั่งคั่งให้กับเขาจนมีอิสรภาพทางการเงินผุดขึ้นมา ขณะนี้เขาไม่สนใจแล้วว่าหุ้นมีราคาแพงขึ้นมาเท่าไรแล้ว เหตุผลที่ใช้ในการวิเคราะห์หุ้นไม่มีแล้ว สิ่งที่เขาต้องการก็คือกำไรที่จะต้องได้อย่างแน่นอน ความโลภเข้าครอบงำ เขาตัดสินใจทุ่มเงินซื้อหุ้น A
หลังจากซื้อหุ้น A แล้ว แทบไม่น่าเชื่อว่าวันรุ่งขึ้นหุ้น A ปรับตัวลงมาพอสมควร อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นก็ตกลงมาเหมือนกันแม้ว่าจะไม่มากเท่า นาย ก. มองหุ้นที่ตกลงมาอย่างไม่วิตก เขารู้สึกเฉยๆกับการที่หุ้นปรับตัวลง ซึ่งสำหรับเขาแล้วเป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะหุ้นที่วิ่งขึ้นมามากอย่างหุ้น A ก็จะต้องมีการปรับตัวบ้าง แต่ในที่สุดก็จะต้องขึ้นกลับไป อารมณ์ในขั้นนี้เรียกว่า อารมณ์เฉยๆ ที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงที่หุ้นเริ่มจะเป็น ขาลงตอนต้นๆ
อารมณ์ขาลงขั้นที่ 2 เรียกว่าการปฏิเสธ ไม่ยอมรับความจริงว่าหุ้น A ที่ซื้อมานั้น บัดนี้ตกต่ำลงมาอีกและได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว นาย ก. พยายามหาเหตุผลมายืนยันกับตัวเองว่าหุ้นตัวนี้ในที่สุดจะต้องกลับไปที่เดิม แม้ว่าปัจจัยหลายอย่างจะเริ่มเป็นลบกับบริษัท แต่เขาเชื่อว่าบริษัทยังแข็งแกร่งพอและนักลงทุนอื่นขายหุ้นตัวนี้ด้วยความเข้าใจผิด
ถึงขณะนี้หุ้น A ตกอย่างฮวบฮาบอีกครั้งหนึ่ง นักวิเคราะห์หลายรายเริ่มเปลี่ยนมุมมองและแนะนำเพียงให้ถือหุ้นตัวนี้ ตลาดหุ้นเองก็ไม่เป็นใจ ข่าวคราวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไม่ดีนัก และถ้าเป็นอย่างนั้น หุ้น A ซึ่งผูกพันกับภาวะเศรษฐกิจก็จะมีปัญหา นาย ก. เริ่มกังวล เวลานี้เขาคิดแต่เพียงว่า ขอต้นทุนของเขาคืนก็พอ และถ้าหุ้นกลับมาที่เดิมเมื่อไร เขาก็จะขายทันที และนี่คืออารมณ์แห่งความกังวล
อารมณ์ที่ 4 และ 5 ของช่วงขาลงก็คือ ความกลัวและความตกใจขวัญผวา นี่คือช่วงที่หุ้นถูกทุบบางทีอาจจะโดยสถาบันลงทุนที่มีหุ้นมากหรือโดยรายใหญ่ที่กำลังทิ้งหุ้น งบการเงินที่ประกาศออกมาน่าผิดหวังมากๆ ปัจจัยที่เป็นบวกทั้งหลายของบริษัทเปลี่ยนเป็นลบหมด ขณะนี้ นอกจากจะไม่หวังได้ทุนคืนแล้ว นาย ก. กำลังกลัวว่าเงินที่เก็บสะสมมาด้วยความยากลำบากกำลังจะหายไป อนาคตทางการเงินแขวนอยู่บนเส้นด้าย เขากลัวด้วยว่าจะถูกภรรยาด่าทอ
          ด้วยอารมณ์ที่หมดหวัง เขาตัดสินใจขายหุ้น A ไป และปลดเปลื้องภาระทางใจที่หนักอึ้งมานาน เขาคิดว่าอย่างน้อยเขาก็ยังเหลืออะไรอยู่บ้างและน่าจะสามารถตั้งตัวได้ใหม่จากการลงทุนในหุ้นตัวอื่นต่อไป  คุณน่าจะเดาได้ว่า วันรุ่งขึ้นหุ้น A วิ่งพรวดขึ้นไป หลายๆคนอาจจะรู้เพราะประสบมาแล้วกับตัวเอง และนี่ก็คือวัฏจักรของอารมณ์ที่ทำร้ายนักลงทุนตลอดเวลา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น