วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554

ยุทธศาสตร์การลงทุน

ก่อนที่จะเริ่มลงทุนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว สิ่งหนึ่งที่เราควรจะกำหนดขึ้นเพื่อเป็นกรอบให้เราสามารถเดินไปได้อย่างถูกต้องก็คือ การกำหนดยุทธศาสตร์ใหญ่ว่าเราจะทำอย่างไรถึงจะทำให้เราประสบความสำเร็จอย่างที่ต้องการได้
ยุทธศาสตร์หรือวิธีการลงทุนหลักใหญ่ๆ ที่เราควรจะต้องเลือกมี 3 วิธีคือ หนึ่ง สิ่งที่เรียกกันว่า การจัดสรรทรัพย์สินที่จะลงทุน หรือ Asset Allocation สอง การเลือกจังหวะเวลาในการลงทุน หรือ Market Timing และ สาม การเลือกหุ้นหรือหลักทรัพย์ หรือ Stock Picking
คนที่เชื่อทฤษฎีทางการเงินที่ว่าตลาดหลักทรัพย์มีประสิทธิภาพสูง เราไม่สามารถที่จะเอาชนะตลาดได้ และผลตอบแทนที่ดีขึ้นนั้นจะได้มาก็ต้องยอมรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ที่เรียกกันว่า High Risk, High Return มักจะแนะนำให้นักลงทุนใช้กลยุทธ์ Asset Allocation นั่นก็คือ เขาเห็นว่าวิธีที่ดีที่สุดที่จะลงทุนก็คือ เราควรจัดสรรเงินลงทุนกระจายไปในทรัพย์สินหลายๆอย่างตามสัดส่วนที่เราต้องการ เช่น ถ้ามีเงิน 100 อาจจะจัดสรรลงทุนในหุ้น 20% ในพันธบัตร 30% ในอสังหาริมทรัพย์เช่นบ้าน 40% และอีก 10% เป็นเงินสด
ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้จากการลงทุนแบบ Asset Allocation นั้นจะขึ้นอยู่กับว่าเราจัดสรรเงินลงทุนในทรัพย์สินไหนมากหรือน้อย ถ้าเราจัดสรรเงินลงทุนในหุ้นมาก ในระยะยาวเราก็น่าจะได้ผลตอบแทนสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ลงทุนในหุ้นมากก็มีความเสี่ยงสูง นั่นก็คือ แทนที่จะได้ผลตอบแทนมาก คุณอาจจะได้ผลตอบแทนแย่ลงก็เป็นไปได้ แม้ว่าในระยะยาวแล้วโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนสูงจะมีมากกว่า อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์นี้ไม่เน้นในด้านของฝีมือในการลงทุน นั่นหมายความว่า ถ้าพูดถึงการลงทุนในหุ้นก็หมายความว่า คุณควรจะต้องถือหุ้นกระจายไปมากหลายๆตัว หรือถ้าจะให้ดีก็คือ ซื้อกองทุนรวมหุ้นโดยเฉพาะที่เป็นกองทุนหุ้นที่อิงดัชนี
การลงทุนแบบ Asset Allocation นี้คนลงทุนอาจจะปรับแต่งเปอร์เซ็นต์การถือครองทรัพย์สินแต่ละอย่างไปได้เรื่อยๆ ซึ่งบางคนก็บอกว่าน่าจะขึ้นอยู่กับอายุของผู้ลงทุน ขึ้นอยู่กับสถานะของเม็ดเงินที่มี ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับความเสี่ยง แต่ในกรณีนี้จะไม่ใช่การขึ้นอยู่กับมุมมองว่าทรัพย์สินประเภทไหนน่าจะกำลังดี หรือหลักทรัพย์กลุ่มไหนน่าจะกำลังแย่ เพราะนั่นจะเป็นเรื่องของกลยุทธ์อีกอย่างหนึ่งนั่นก็คือ กลยุทธ์ การเลือกจังหวะเวลา
Market Timing เป็นเรื่องที่นักลงทุนพยายามสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ดีโดยการคาดการณ์ว่า การลงทุนอะไรจะดี การลงทุนอะไรจะแย่ ถ้าเขาคิดว่าหุ้นน่าจะดี หรือหุ้นที่กำลังบูมจะบูมต่อไป เขาก็จะเคลื่อนย้ายเงินเข้าไปลงทุนในตลาด แต่ถ้าคิดว่าดอกเบี้ยกำลังขึ้น หุ้นจะตก เขาอาจจะออกจากหุ้นแล้วเอาเงินมาฝากแบงค์หรือมาซื้อพันธบัตรกินดอกเบี้ยสูง ๆ
Market Timer หรือคนที่คาดการณ์ภาวะการลงทุนนั้น เวลาจะเข้าลงทุนในตลาดหุ้น เขามักจะไม่สนใจว่าจะต้องเลือกหุ้นอย่างพิถีพิถันมากมาย ถ้าเขาคิดว่าตลาดดี เขาก็อาจจะเลือกซื้อหุ้นที่หวือหวา ราคาขึ้นลงเร็ว มีสภาพคล่องในการซื้อขายสูง และมักจะเคลื่อนไหวไปกับดัชนีตลาดสูง ตัวอย่างเช่น หุ้นของบริษัทหลักทรัพย์หรือหุ้นของธนาคาร บางคนที่มีความรู้เกี่ยวกับการเลือกหุ้นน้อยก็อาจจะซื้อหน่วยลงทุนที่เป็นกองทุนหุ้นแทนก็อาจจะให้ผลในทำนองเดียวกัน
กลยุทธ์สุดท้ายในการลงทุนก็คือ การลงทุนแบบเลือกหุ้นหรือเลือกทรัพย์สินที่จะลงทุนเป็นรายตัวที่นักลงทุนคาดว่าจะให้ผลตอบแทนสูงที่สุดและมีความเสี่ยงต่ำที่สุด โดยที่เขาอาจจะไม่ได้ให้ความสนใจกับภาวะตลาด หรือสัดส่วนในการลงทุนในทรัพย์สินแต่ละอย่างมากนัก นั่นก็คือ แม้ในภาวะเช่น ตลาดหุ้นกำลังตกต่ำซบเซา เขาก็อาจจะลงทุนในหุ้นมากมาย เพราะเขาอาจจะเจอหุ้นที่ดีและมีราคาถูกมาก ว่าที่จริงเขาอาจจะคิดว่านั่นคือโอกาสในการลงทุนในหุ้น เช่นเดียวกัน เขาอาจจะลงทุนเงินทั้งหมดในหุ้นแทนที่จะมีบ้านหรือที่ดินและมีพันธบัตรด้วยถ้าเขาคิดว่า เขามีหุ้นที่น่าจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าและมีความเสี่ยงต่ำกว่า
Stock Picker หรือคนที่ลงทุนโดยเน้นการเลือกหุ้นเป็นรายตัวโดยไม่สนใจในเรื่องของเวลาเข้า- ออกตลาด และไม่สนใจว่าจะต้องกระจายความเสี่ยงโดยการถือทรัพย์สินหลายๆแบบ หรือแม้แต่หลายๆตัว จะต้องเป็นคนที่มีความสามารถสูงในการวิเคราะห์ มีอารมณ์ที่มั่นคง และจะต้องมีความรู้ในเรื่องของการลงทุนเป็นอย่างดี เพราะถ้าทำได้ไม่ดีหรือไม่ถูกต้อง เขาอาจจะเกิดความเสียหายอย่างหนัก อย่างไรก็ตาม ถ้าเขามีความเชี่ยวชาญจริงในสิ่งที่ทำ โอกาสที่จะได้ผลตอบแทนสูงมากและความเสี่ยงต่ำก็เป็นไปได้ไม่น้อย นี่ไม่ใช่เฉพาะในเรื่องของหุ้นเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะหมายถึงอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินอย่างอื่นที่ทำให้นักเลือก รวยไปเลย
          การลงทุนนั้น ถ้าจะพูดให้ชัดเจนก็คือ ต้องกำหนดยุทธศาสตร์ แต่ก็เช่นเดียวกับความรู้หรือหลักการอย่างอื่น ไม่มีใครสามารถบอกว่าตนเองยึดถือหลักการอันเดียวร้อยเปอร์เซ็นต์ เราต้องมีทุกหลักการในตัว เพียงแต่ว่าเราจะเน้นหนักไปที่หลักการไหน ประเด็นที่สำคัญจริงๆก็คือ เราต้องมีหลักการมิฉะนั้น การลงทุนของเราก็จะไม่มีทิศทาง และถ้าเราไม่มีทิศทางโอกาสที่เราจะไปถึงเป้าหมายก็แทบเป็นไปไม่ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น