วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554

บทเรียนจาก Anthony Bolton

Anthony Bolton เป็นผู้บริหารกองทุนรวมแนว Value Investment ชื่อดังและประสบความสำเร็จอย่างสูงของอังกฤษ หลายๆคนเรียกเขาว่า ปีเตอร์ลินช์แห่งอังกฤษ ผมไม่รู้ว่าสไตล์การลงทุนของเขาจะเป็นเหมือนกับปีเตอร์ลินช์หรือไม่ แต่สิ่งที่ผมรู้สึกประทับใจก็คือ บทเรียนการลงทุนที่เขาเผยให้เราได้เรียนรู้จากประสบการณ์การลงทุนของเขากว่า 25 ปีนั้นมันช่างโดนใจ กระชับ และใกล้เคียงกับสิ่งที่ผมเองประสบมา และต่อไปนี้คือบทเรียน 16 ข้อที่เขาเคยพูดไว้และคุณ“WEB” หรือคุณพรชัย รัตนนนทชัยสุข นักแปลหนังสือการลงทุนมือต้นๆของเมืองไทยได้สรุปไว้ ซึ่งทำได้ดีจนผมต้องขอนำมาเผยแพร่ต่อ
ข้อ 1) ต้องเข้าใจความได้เปรียบเชิงแข่งขันและคุณภาพของบริษัท คุณจะต้องรู้ฐานะการแข่งขันของบริษัทและรู้ว่าบริษัททำผลกำไรได้ด้วยวิธีการใด ธุรกิจที่ผมชอบคือ ธุรกิจที่มีความได้เปรียบเชิงแข่งขันที่ยั่งยืนเป็นระยะเวลายาวนานสิ่งที่ผมจะถามก็คือในอีก 10 ปีข้างหน้าบริษัทนี้จะยังอยู่หรือไม่และบริษัทน่าจะมีมูลค่าสูงกว่านี้หรือเปล่า?
ข้อ 2) เข้าใจตัวแปรสำคัญๆที่เป็นตัวผลักดันธุรกิจ ระบุตัวแปรหลักๆที่จะส่งผลต่อการดำเนินงานของบริษัทออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวแปรที่บริษัทควบคุมไม่ได้อย่างเช่น ค่าเงิน อัตราดอกเบี้ยและภาษี สำหรับผม ธุรกิจที่ดีคือ ธุรกิจที่สามารถควบคุมชะตากรรมส่วนใหญ่ของตัวเองได้
ข้อ 3) สนใจธุรกิจที่เข้าใจง่ายมากกว่าธุรกิจที่ซับซ้อน ธุรกิจที่ซับซ้อนจะวิเคราะห์ได้ยากว่ามีความได้เปรียบเชิงแข่งขันอย่างยั่งยืนหรือเปล่า สำหรับผมแล้วความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดเป็นคุณสมบัติที่น่าสนใจ ธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนสูงๆในการดำเนินธุรกิจจะมีความน่าสนใจน้อยกว่า
ข้อ 4) ฟังข้อมูลจากผู้บริหารโดยตรง ผมชอบผู้บริหารที่ตรงไปตรงมาและไม่ขี้โม้ ผมอยากได้ยินทั้งข่าวดีและข่าวร้าย
ข้อ 5) หลีกเลี่ยงบริษัทที่มีผู้บริหารที่ไม่ซื่อสัตย์และไม่มีความน่าเชื่อถือในทุกกรณี
ข้อ 6) พยายามคิดล้ำหน้ากว่าคนอื่นๆไปสองก้าว ดูว่าอะไรถูกมองข้ามไปในปัจจุบัน แต่มันจะสร้างความตื่นเต้นให้กับนักลงทุนในอนาคตได้ โดยทั่วไปแล้ว ตลาดหุ้นไม่ได้มองอะไรไกลๆนัก ดังนั้น หากเรามองไกลกว่าคนอื่นๆ เราจะทำกำไรได้
ข้อ 7) เข้าใจความเสี่ยงในงบดุล การลงทุนเป็นการจำกัดความเสี่ยงและหลีกเลี่ยงความหายนะ คุณต้องวิเคราะห์งบดุลอย่างละเอียด ดูเรื่องหนี้สินของบริษัทให้ดี
ข้อ 8) เสาะหาความคิดจากหลายๆแหล่ง ยิ่งคุณมีความคิดหลากหลายขึ้นเท่าไร คุณก็จะมีโอกาสหาหุ้นเด็ดๆได้สูงขึ้นเท่านั้น แหล่งความคิดที่ชัดเจนที่สุดอาจจะไม่ใช่แหล่งที่ดีที่สุดเสมอไป ผมจะชอบแหล่งข้อมูลที่คนอื่นๆไม่ค่อยใช้
ข้อ 9) ดูการซื้อขายหุ้นของผู้บริหารบริษัทด้วย มันไม่ใช่ตัวชี้วัดที่ถูกต้องเสมอไป แต่มันก็มีประโยชน์มาก ดูจำนวนรายการที่เกิดขึ้น การซื้อจะบอกอะไรได้มากกว่าการขาย และผู้บริหารบางคนจะน่าสนใจกว่าคนอื่นๆ
ข้อ 10) ตรวจสอบเหตุผลในการลงทุนของคุณเป็นระยะๆ การซื้อหุ้นต้องมีเหตุผลรองรับและคุณต้องตรวจสอบเหตุผลเหล่านั้นเป็นระยะๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีข้อมูลใหม่ๆเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม อย่าปล่อยให้ความเชื่อมั่นพัฒนากลายเป็นความดื้อรั้น
ข้อ 11) ลืมต้นทุนของคุณเสีย ราคาที่คุณซื้อหุ้นมาไม่มีความเกี่ยวข้องเลย มันแค่มีความสำคัญในเชิงจิตวิทยาเท่านั้น เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปในเชิงลบ อย่าลังเลที่จะตัดขาดทุน
ข้อ 12) ผลงานที่ผ่านมาไม่ได้บ่งบอกถึงอนาคต อย่างไรก็ตาม คุณต้องวิเคราะห์ความผิดพลาดของคุณและเรียนรู้จากมัน
ข้อ 13) ใส่ใจกับมูลค่าเฉพาะของบริษัทนั้นๆ ไม่ใช่ดูแต่มูลค่าเชิงเปรียบเทียบ หากคุณดูแต่มูลค่าเชิงเปรียบเทียบคุณอาจจะซื้อหุ้นตัวที่แพงน้อยกว่ามา ซึ่งมันจะทำให้คุณขาดทุนอยู่ดี               
          ข้อ 14) ใช้วิเคราะห์ทางเทคนิคเป็นตัวบ่งชี้เพิ่มเติม ผมจะใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคมาช่วยกำหนดขนาดการซื้อหุ้นของผม หากปัจจัยทางเทคนิคช่วยยืนยันการวิเคราะห์เชิงพื้นฐาน ผมจะซื้อหุ้นในปริมาณที่มากขึ้น แต่ถ้าไม่ ผมจะซื้อหุ้นอยู่ดีแต่จะซื้อในปริมาณที่ลดลง เมื่อไรก็ตามที่ปัจจัยเทคนิคชี้ว่าหุ้นกำลังอ่อนแอ ผมจะตรวจสอบปัจจัยพื้นฐานของบริษัทอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ผมพบว่ามันจะมีประโยชน์สำหรับหุ้นขนาดใหญ่มากกว่า
ข้อ 15) หลีกเลี่ยงการทำนายทิศทางตลาดและการลงทุนตามเศรษฐกิจมหภาค ผมจะลงทุนในบริษัทที่ผมคิดว่ามีความได้เปรียบเชิงแข่งขัน
ข้อ 16) จงสวนกระแส หากคุณรู้สึกสบายใจที่จะลงทุนในหุ้น คุณอาจจะเข้ามาสายไปแล้ว จงลงทุนสวนกระแสฝูงชน อย่ารู้สึกมั่นใจสูงขึ้นเมื่อราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้น เวลาที่ทุกคนปราศจากความกังวลจะเป็นเวลาที่น่ากลัวที่สุด เวลาที่ทุกคนกังวลอย่างมาก ความกังวลจะไปสะท้อนในราคาแล้ว
          และทั้งหมดก็คือสิ่งที่กลั่นออกมาจากประสบการณ์ของคนที่อยู่ในเกมและประสบความสำเร็จมานาน หลายๆข้ออาจจะดูเหมือนว่าคล้ายๆกับแนวทางของปรมาจารย์อื่นๆ แต่นั่นคือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น หลักการลงทุนที่ถูกต้องนั้น มีการคิดการเขียนมาจนแทบจะพูดได้ว่าไม่ค่อยมีอะไรใหม่แล้ว แต่การให้น้ำหนักและความสำคัญของแต่ละประเด็นจะเป็นสิ่งที่แยกว่าใครเป็นเซียนและใครเป็นนักลงทุนธรรมดาๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น