วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554

ลงทุนแบบพอเพียง สไตล์ VI

การลงทุนแบบพอเพียงนั้นหมายความว่า เป็นการลงทุนที่ทำตามกำลังความสามารถที่เรามีอยู่ เราไม่เร่งรีบที่จะทำกำไรเร็วเกินกว่าที่ควรจะเป็นด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น
Value Investor มักจะไม่กู้เงินมาลงทุนโดยเฉพาะการใช้มาร์จินมาซื้อหุ้นซึ่งเป็นวิธีที่อาจจะทำให้ได้กำไรมากและเร็วขึ้นถ้าเราทำถูก แต่ถ้าเราพลาด ความเสียหายก็จะรุนแรง
Value Investor มักจะไม่ซื้อ Warrant ถ้าเราไม่สนใจที่จะซื้อหุ้นแม่ เพราะวอแรนต์นั้นเป็นหลักทรัพย์ที่อาจให้ผลตอบแทนที่สูงมากในเวลาอันรวดเร็ว แต่ถ้าพลาดก็อาจจะไม่เหลือมูลค่าเลยเมื่อมันหมดอายุโดยที่เราไม่ใช้สิทธิซื้อหุ้น
Value Investor เกือบจะไม่มีวันซื้อ Future ซึ่งเป็นเรื่องของการคาดการณ์ดัชนีล่วงหน้า ซึ่งถ้าคาดถูก ก็จะทำกำไรมหาศาล แต่ถ้าคาดผิดก็เสียหายมาก เพราะ Future นั้น เป็นการ พนันที่การวิเคราะห์ช่วยอะไรได้น้อยมาก แต่ที่สำคัญก็คือ มีการวางเงินน้อยมาก เข้าใจว่าประมาณ 10% แต่เวลาได้เสีย ได้เสียกัน 100%
ในแง่ของบริษัทที่ Value Investor ชอบลงทุนนั้นก็เช่นเดียวกัน เรามักชอบบริษัทที่ยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียงมากกว่าบริษัทที่เร่งรีบเกินตัว เช่น
Value Investor ชอบบริษัทที่มีหนี้น้อยและกลัวบริษัทที่มีหนี้มาก โดยเฉพาะถ้าเป็นบริษัทที่มีผลการดำเนินงานที่ไม่ค่อยแน่นอน เราไม่ชอบบริษัทที่พยายามโตเร็วเกินความจำเป็นโดยการก่อหนี้มากเกินอัตราส่วนที่ควรเป็น เพราะหนี้นั้นอาจจะทำให้กำไรต่อหุ้นสูงขึ้นก็จริง แต่ถ้าเกิดความผิดพลาด กิจการอาจเสียหายใหญ่หลวงถึงขั้นล้มละลายได้
Value Investor ไม่ชอบบริษัทที่ขยายตัวโดยการทำธุรกิจต่าง ๆ มากมายที่ตนเองไม่มีความชำนาญเป็นพิเศษหรือมีความได้เปรียบคู่แข่ง โดยที่อาจจะเห็นว่าธุรกิจเหล่านั้นกำลังเติบโตและตนเองน่าจะเข้าไปยึดโอกาสนั้น ความเชื่อของเราก็คือ บริษัทควรจะทำเฉพาะในสิ่งที่ตนเองมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง การเติบโตโดยทำในสิ่งที่ไม่ถนัดนั้น โอกาสประสบความสำเร็จมีน้อยกว่าความล้มเหลวไม่ว่าอุตสาหกรรมนั้นกำลังโตหรือไม่
มองในด้านของความคิดในการทำเงิน การสร้างความมั่งคั่ง และการสร้าง Value หรือคุณค่าให้กับกิจการหรือส่วนตัว  Value Investor ชอบความสมถะ มัธยัสถ์ และชอบการใช้เงินในสิ่งที่เป็นประโยชน์คุ้มค่าและสมควร มากกว่าการใช้จ่ายที่ฟู่ฟ่าหรูหราโดยที่อาจมีความคิดว่าเป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนเพียงเล็กน้อย เช่น
Value Investor ชอบผู้บริหารบริษัทที่ประหยัด ลดต้นทุนทุกอย่างที่ไม่จำเป็น เรามักจะพอใจที่เห็นสำนักงานใหญ่ของบริษัทที่ดูค่อนข้าง กระจอกมาก เมื่อเทียบกับตัวธุรกิจ ถ้าสำนักงานใหญ่นั้นไม่ได้มีส่วนในการสร้างความสำเร็จต่อการดำเนินงานประจำวันของกิจการแต่อย่างใด ตรงกันข้าม ถ้าผู้บริหารใช้ชีวิตที่หรูหรามากจากเงินของบริษัท เราจะรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ แม้ว่าต้นทุนส่วนนั้นอาจจะน้อยนิดเมื่อเทียบกับขนาดของกิจการ
โดยนิสัยส่วนตัวของ Value Investor เองนั้น ส่วนมากก็มักจะใช้จ่ายต่ำกว่ามาตรฐานความมั่งคั่งของตนเอง เหตุผลนั้น นอกจากอาจจะเป็นเรื่องของนิสัยส่วนตัวที่มีความมัธยัสถ์อยู่แล้ว การเป็นนักลงทุนนั้นไม่มีความจำเป็นต้องแต่งตัวดีหรือมีหน้ามีตาเพื่อให้ประสบความสำเร็จเหมือนอย่างผู้บริหารหรือคนทำงานในอาชีพอื่น ดังนั้น Value Investor จำนวนมากจึงมักจะใช้ชีวิตอย่าง “Economy” แต่เวลาลงทุนกลับทุ่มเทใช้เงินอย่าง ไม่เสียดายเหมือนกับการซื้อของหรือใช้บริการแบบ “First Class”
หลักการของเศรษฐกิจพอเพียงได้รับการกล่าวขวัญและยอมรับมากขึ้นมากหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ที่ธุรกิจจำนวนมากต้องล้มละลายจากการเร่งขยายกิจการเกินตัว เช่นเดียวกับชีวิตของคนจำนวนมากที่ต้องประสบกับความยากลำบากอันเนื่องมาจากการใช้ชีวิตที่เกินกำลัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น