วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554

ความมั่นใจในการลงทุน

นักเล่นหุ้นระยะสั้นจำนวนมากไม่มีความมั่นใจในตัวหุ้นที่ตนเองลงทุนซื้อมา เพราะฉะนั้นเขาจะไม่เก็บไว้นาน มีกำไรเขาจะรีบขายทันที จำนวนมากซื้อมาตอนเช้าแล้วขายตอนบ่าย อีกจำนวนไม่น้อยซื้อแล้วถือเพียงไม่กี่วันก็ขาย พวกเขาคงรู้สึกว่าหุ้นเป็นสิ่งที่มีความเสี่ยงสูงมาก การถือหุ้นเอาไว้เป็นสิ่งที่เสี่ยงเหมือนกับการอุ้มระเบิดเอาไว้ ดังนั้น ตราบใดที่เขามีหุ้นอยู่ในมือ เขามักจะไม่กล้าไปต่างประเทศ หรืออยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขายหุ้นทิ้งทันทีได้ บางคนแค่ถือหุ้นข้ามวันที่ตลาดปิดก็ใจคอไม่ดีแล้ว
นักลงทุนระยะยาวบางคนก็ปอดอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อหุ้นที่ถืออยู่มีราคาลดลงมาก เขาจะเริ่มไม่มั่นใจว่าหุ้นที่ถืออยู่นั้นดีจริงหรือไม่ เขากลัวว่าพื้นฐานของกิจการอาจจะเปลี่ยน เขากลัวว่าคู่แข่งกำลังเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาด เขากลัวภาวะเศรษฐกิจกำลังส่งผลให้ธุรกิจเสียหาย เขากลัวอีกหลายๆอย่าง โดยเฉพาะที่ปรากฏอยู่ในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทุกวัน ดังนั้น ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1-2 ปี เขาก็มักจะตัดสินใจขายหุ้นที่ถือไว้ไม่ว่าจะขาดทุนหรือกำไร ความมั่นใจในการลงทุนดูเหมือนว่าจะมีไม่เพียงพอแม้ว่าหลายคนจะบอกว่าตนเป็น Value Investor
การซื้อขายหุ้นเร็วเนื่องจากความไม่มั่นใจนั้นผมคงไม่ต้องพูดอีกว่าเป็นสิ่งที่มักทำให้การลงทุนเสียหาย เพราะนอกจากเรื่องของค่าคอมมิสชั่นที่ต้องเสียแล้ว ส่วนมากมักจะเป็นการขายผิดเวลา ขายหุ้นโดยปราศจากการวิเคราะห์อย่างรอบคอบ แต่สิ่งที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือ วิธีการสร้างความมั่นใจในการลงทุน ซึ่งจะทำให้เรากล้าถือหุ้นยาวและไม่กังวลกับเรื่องร้ายๆที่ทำให้เราไม่สบายใจจนต้องขายหุ้นทิ้งเพื่อปลดเปลื้องทุกข์เพื่อที่จะพบว่า สิ่งที่เรากลัวนั้น บ่อยครั้งมันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด และเราจะได้ประโยชน์มากกว่าจากการถือหุ้นไว้แทนที่จะขายมัน
วิธีสร้างความมั่นใจในการลงทุนข้อแรกก็คือ เราจะต้องสร้างศรัทธาในหุ้น และเป็นศรัทธาที่อิงอยู่กับประวัติศาสตร์และสถิติระยะยาวของตลาดหุ้นทั้งของต่างประเทศและของไทยว่า ในระยะยาวแล้ว การลงทุนในหุ้นเป็นสิ่งที่ให้ผลตอบแทนงดงาม อย่างน้อยก็ 7-8% ต่อปีทบต้น โอกาสที่จะได้ต่ำกว่านี้มีน้อยมากถ้าเราสามารถถือหุ้นอย่างน้อย 15-20 ปีขึ้นไป
ข้อสอง เป็นเรื่องยากมากที่จะคาดการณ์ภาวะตลาดหุ้นปีต่อปี ไม่ต้องพูดถึงเดือนต่อเดือน หรือวันต่อวัน เพราะฉะนั้น ไม่มีประโยชน์ที่จะพยายามคาดการณ์ตลาดและซื้อหรือขายหุ้นทิ้งเป็นช่วงๆ
ข้อสาม เวลาลงทุน จะต้องลงทุนในหุ้นหลายตัว และหลายอุตสาหกรรม กระจายกันไปเป็นพอร์ตโฟลิโอ และที่สำคัญก็คือ การดูผลตอบแทนของการลงทุนควรจะดูโดยรวมทั้งพอร์ต ตราบใดที่ผลตอบแทนยังเป็นบวก เราก็ควรจะสบายใจได้ว่า สิ่งที่ทำมานั้นถูกต้อง การที่มีหุ้นบางตัวเป็นลบบ้างไม่ได้หมายความว่าหุ้นตัวนั้นเป็นหุ้นที่จะต้องขายทิ้งเสมอไป การจัดการกับหุ้นแต่ละตัวจะต้องพิจารณาอย่างปราศจากอคติหรือมีอารมณ์ที่ทำให้เราขาดเหตุผล
ข้อสี่ เราจะต้องมองหุ้นทุกตัวว่าเป็นธุรกิจ เป็นกิจการที่เราเป็นเจ้าของส่วนหนึ่ง เป็นสิ่งที่มีมูลค่า เพราะมันมีทรัพย์สิน มีคนทำงาน มีความรู้ความสามารถ มียี่ห้อและค่าความนิยมที่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้บริโภคชอบ และที่สำคัญ เป็นกิจการที่ทำกำไร สามารถจ่ายปันผล รวมทั้งยังมีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้นด้วย ไม่ใช่กระดาษหรือตัวเลขในบัญชีที่สามารถขึ้นลงได้รวดเร็วและมูลค่าอาจจะตกลงมามหาศาลได้ในชั่วข้ามคืน
ข้อห้า ซื้อหุ้นของบริษัทที่มีความเข้มแข็ง มีผลการดำเนินงานดีสม่ำเสมอมานานและอนาคตก็น่าจะดีต่อไปอีกนาน ในราคาที่ถูก หรือราคายุติธรรมถ้าเป็นหุ้นของกิจการที่โดดเด่นมากๆ
ข้อหก ถ้าทำได้ พยายามสัมผัสกับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้มากที่สุด ถ้าเป็นสินค้าผู้บริโภคก็จะเป็นเรื่องง่ายที่เราจะต้องคอยตรวจสอบ สังเกต ลองใช้ อย่างสม่ำเสมอ ทุกครั้งที่เราจะไม่มั่นใจ กลับไปดูที่ร้าน กลับไปตรวจสอบความนิยม กลับไปลองใช้ ความมั่นใจอาจกลับคืนมา อย่าปล่อยให้ราคาหุ้นหรือตลาดหุ้นเป็นตัวกำหนดชี้นำอารมณ์และความคิดของเรา
ข้อเจ็ด เดี๋ยวนี้ การพบผู้บริหารบริษัทและการเยี่ยมชมบริษัทสำหรับนักลงทุนรายย่อยทำได้ง่ายขึ้น เพราะตลาดหลักทรัพย์มีการจัดงาน Opportunity Day ให้ผู้บริหารมาชี้แจงการทำงานและผลการดำเนินงานของบริษัทเป็นประจำซึ่งนักลงทุนทั่วไปสามารถเข้าร่วมฟังได้ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยเองก็มีการจัดเข้าเยี่ยมชมกิจการของบริษัทจดทะเบียนซึ่งสมาชิกสามารถเข้าร่วมได้ นอกจากนั้น การประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีก็เป็นโอกาสที่ดีในการพบกับผู้บริหาร การได้พบกับผู้บริหารหรือเข้าเยี่ยมชมบริษัทนั้น บ่อยครั้งทำให้เรามีความมั่นใจขึ้น บางคนบอกว่าทำให้มั่นใจเกินไปด้วยซ้ำ
          วิธีการสร้างความมั่นใจที่กล่าวถึงเกือบทั้งหมดนั้น ถ้าจะพูดไปก็คือการสร้างความรอบรู้ในธรรมชาติของหุ้น ตลาดหุ้น ตัวกิจการ ผู้บริหารและภาวะของธุรกิจที่บริษัททำอยู่ ความรอบรู้นี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้ไม่กลัวและเกิดความมั่นใจซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับนักลงทุน ข้อควรระวังมีเพียงนิดเดียว อย่าปล่อยให้ความมั่นใจกลายเป็นความมั่นใจเกินไปซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่น่ากลัวไม่น้อยไปกว่าความไม่มั่นใจเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น